Friday, October 15, 2010

Innovation is not enough

ในบรรดาหัวใจทางความคิดของเหล่าปรมาจารย์ทางการจัดการและกลยุทธ์ที่นำเสนอในหนังสือ “คิดใหม่เพื่ออนาคต”(Rethinking The Future) นั้น การสร้างนวัตกรรมถือว่ามีความสำคัญอยู่ในอันดับหนึ่ง
ไมเคิล อี.พอร์เตอร์ กูรูกลยุทธ์ที่โดดเด่นที่สุดของโลกในรอบสามสิบปีกล่าวว่าหนึ่งในความได้เปรียบที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21 คือความได้เปรียบทางนวัตกรรม(Innovation Advantage)
นวัตกรรมโยงใยกับทิศทางด้านกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง นวัตกรรมที่กำลังดำเนินอยู่จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์เชิงยุทธ์ด้วย
แกรี่ ฮาเมล กูรูกลยุทธ์รุ่นใหม่ที่มาแรงที่สุดกล่าวว่าการ invent อนาคตใหม่ด้วยจินตนาการนั้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผู้นำองค์กร แต่ทว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนที่ล้อมรอบซึ่งผู้นำมีปฏิสัมพันธ์ด้วย
ปีเตอร์ เอฟ.ดรักเกอร์ อภิมหาปรมาจารย์เจ้าของฉายา “บิดาแห่งการจัดการ” เขียนบทความ Innovation or Die อีกครั้งหลังจากเขียน Innovation and Entrepreneurship เมื่อหลายทศวรรษก่อน
ดูเหมือนว่าโลกธุรกิจจะถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ก่อนที่ “จิวยี่” จะรากเลือดตายในเรื่องสามก๊กนั้น เขาได้กล่าวอมตะวาจาประโยคหนึ่งว่า “ฟ้าให้จิวยี่มาเกิด ไฉนให้ขงเบ้งมาเกิดด้วยเล่า”
หากจะปรับให้เข้ากับท้องเรื่องของบทความชิ้นนี้ก็คือ “ฟ้าให้กำเนิดนวัตกรรม ไฉนอุ้มบุญ CopyCat ออกมาด้วยเล่า”
ดูเหมือนวัตกรรมคือจุดสูงสุดของธุรกิจ บริษัททั้งหลายทั้งปวงจึงมุ่งเน้นในการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่นวัตกรรม เลสเตอร์ ทูโรว์ เขียนใน “คิดใหม่เพื่ออนาคต” ว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตรา GDP เฉลี่ยต่อหัว 30-40%ของเนเธอร์แลนด์เท่านั้น แต่ทว่าเกาหลีใต้ลงทุนด้าน R&D ในอัตราส่วนที่มากกว่าเนเธอร์แลนด์ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเกาหลีใต้จึงเป็นประเทศที่อุมด้วยนวัตกรรมและก้าวไปสู่แถวหน้าของเอเชียในปัจจุบัน
แต่นวัตกรรมไม่ได้ดำรงอยู่ได้นาน เปรียบเสมือน “กระดานหมากล้อม” เมื่อมีหมากขาวก็ย่อมต้องมีหมากดำ มีนวัตกรรมก็ต้องมีผู้ลอกเลียนแบบหรือ Copy Cat
BusinessWeek เรียกเศรษฐกิจที่มีการลอกเลียนแบบเป็นสรณะว่า Copy Cat Economy
เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การก๊อปปี้ง่ายเพียงชั่วข้ามคืน
Entry Barrier ในการก้าวเข้าสู่ชมรม Copy Cat แทบจะกลายเป็นศูนย์
คำถามที่น่าสนใจก็คือแล้วจะสร้างนวัตกรรมกันไปทำไม เพราะนวัตกรรมในด้านหนึ่งก็คือความสุ่มเสี่ยงต่อความล้มเหลวและต้นทุนมหาศาลที่ลงไปก็เรียกกลับคืนมาไม่ได้
สู้ปล่อยให้องค์กรที่คลั่งไคล้ไหลหลงนวัตกรรมทุ่มเทงบประมาณกับ R&D และทดลองตลาดไปให้เห็นว่าประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนแล้วค่อยกระโดดไปก็ไม่สาย
ในแง่นี้ Copy Cat ย่อมเป็นคำตอบสุดท้าย
เมื่อ SONY ประกาศส่งนวัตกรรมจอแบนลงสู่ตลาดเมื่อสองปีก่อนนั้นเป็นที่ฮือฮามากเพราะ SONY ใช้ทั้งราคาและนวัตกรรมไล่ขยี้คู่แข่งจมเขี้ยว แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ทีวีทุกแบรนด์กลายเป็นจอแบนไปทั้งหมด
SONY จึงต้อง Innovate อีกครั้งด้วยการออกจอแบนแบบใหม่ที่เฉียบคมด้วยดีไซน์และคมชัดมากกว่าแบรนด์อื่นๆ
แต่ SONY จะนำหน้าไปได้สักกี่เดือน
เช่นเดียวกับฟอร์ดปิ๊กอัพรุ่นตู้กับข้าวที่เปิดได้สี่ประตูที่นำหน้าเหนือกว่าปิ๊กอัพแบรนด์อื่นที่ยังตามไม่ทัน
แต่ฟอร์ดจะนำหน้าในฐานะ Innovator อยู่ได้กี่เดือน
ซึ่งก็หมายความว่า Innovation is not enough
เพราะทุกบริษัทต่าง Innovate กันหมด
Copy Cat ก็ลุยลอกกันชั่วข้ามคืน
อย่างนั้นอะไรคือคำตอบสุดท้าย
อัล รีย์ กล่าวไว้ในคิดใหม่เพื่ออนาคต ว่าต้องสร้างแบรนด์ผูกขาดไร้คู่แข่งขัน
เฉกเช่นที่ไมโครซอฟท์ทำได้กับ Window
เพียงแต่ว่าการผูกขาดยุคนี้ทำได้ไม่ง่าย
แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้เลย!!!

No comments:

Post a Comment