Thursday, October 14, 2010

Employee Engagement Part 3

 
     จากบทความที่ผ่านมาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะเข้าใจและนำไปใช้กับองค์การอย่างมีประสิทธิภาพครับ ในบทความนี้จะเป็นเติมเต็มความเข้าใจถึง Employee Engagement มากขึ้น โดยหนังสือ Productivity Cornor โดยคุณพรรัตน์ แสดงหาญ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับคำว่า Engagement กับ Commitment ไว้ดังนี้
     ในแวดวง HR สมัยใหม่ เรามักจะได้ยินคำว่า Commitment กับ Engagement อยู่บ่อยๆ ซึ่งทั้งสองคำนี้ต่างก็เป็นที่หมายปองของทุกองค์กร คำว่า Commitment ไม่ใช่คำใหม่ เคยมีการแปลเป็นภาษาไทยว่า "ความผูกพันทางใจ" ของพนักงานในการทำงานกับองค์กร ส่วนคำว่า Engagement เป็นคำใหม่กว่า เพิ่มได้รับความนิยมเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้น จะใช้ภาษาไทยว่าอะไรก็ยังไม่ชัดเจนนัก ดังนั้น จึงขอใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปก่อน
     ความเหมือนของสองคำข้างต้น คือ การที่องค์กรต้องการให้คำทั้งสองเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนความต่างอยู่ที่ Commitment จะมุ่งให้เกิดกับองค์การ แต่ Engagement จะมุ่งให้เกิดในการทำงาน (commitment to an organization and engagement in a job) ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาว่าทำไมองค์กรทั้งหลายจึงต้องการให้พนักงานมีทั้ง Commitment และ Engagement
     รู้จักกับ Commitment ให้มากขึ้น
     Commitment หรือความผูกพันทางใจเป็นความรู้สึกที่พนักงานมีให้กับองค์กร เช่น การยอมรับในเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานขององค์กร ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เป็นต้น ซึ่งเราอาจแบ่งประเภทของความผูกพันทางใจนี้ได้ 3 ประเภท คือ
     1. เราทำงานที่นี่ เพราะเราชอบองค์กรนี้
     ผู้ที่มี commitment ระดับนี้จะมีความรู้สึกที่ดีต่อองค์กร เขาหรือเธอยินดีที่จะเสียสละและทุ่มเทกำลังแรงกำลังใจให้กับองค์กรอย่างเต็มความสามารถ แทบจะเรียกได้ว่าหายใจเข้าหายใจออกเพื่อองค์กรตลอดเวลา ความภูมิใจในชีวิตการทำงาน คือ การที่ได้ทำงานกับองค์กรแห่งนี้ และแน่นอนว่าเขาหรือเธอไม่คิดที่จะนอกใจไปทำงานที่อื่นแน่นอน
     2. เราทำงานที่นี่ เพราะเราจำเป็นต้องอยู่องค์กรนี้
     ผู้ที่มี commitment ระดับนี้จะรู้สึกว่า เขาหรือเธอจะอยู่กับองค์กรด้วยเหตุผลความจำเป็นบางอย่าง เช่น รอบำนาญ รอเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือต้องการมีประวัติการทำงานที่น่าสนใจ เป็นต้น โดยพนักงานที่มีความผูกพันทางใจระดับนี้เพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอที่จะทำให้พนักงานทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานอย่างเต็มความสามารถ
     3. เราทำงานที่นี่ เพราะเราควรทำงานให้กับองค์กรนี้
     ผู้ที่มี commitment ระดับนี้จะรู้สึกดีต่อองค์กรหรืออย่างตอบแทนองค์การ เพราะเขาหรือเธอมีเหตุผลที่ทำให้คิดว่าควรต้องทำงานอย่างเต็มความสามารถให้กับองค์การแห่งนี้ เช่น การได้รับทุนการศึกษา การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี หรือการได้รับความช่วยเหลือบางอย่างจากหน่วยงาน
     ในทางปฏิบัติแล้วพบว่า Commitment แบบแรกและแบบที่สามจะมีความสัมพันธ์กัน ถ้าพนักงานมี Commitment ทั้งแบบที่แรกและแบบที่สามต่อบริษัท แน่นอนว่าพนักงานพอใจที่จะทำงานที่บริษัทแห่งนี้และมั่นใจว่าการอุทิศทุ่มเทการทำงานให้กับบริษัทเพราะเป็นสิ่งที่ควรทำ และทำงานอย่างมีความสุขไม่คิดจะไปทำงานที่อื่นเลย ในขณะเดียวกัน ความเป็นจริงอีกด้านบอกเราว่ามีพนักงานอีกไม่น้อยที่มี Commitment แบบที่สองคือ ยังผ่อนบ้านผ่อนรถไม่หมด ลูกก็ยังเล็ก อายุมากแล้ว หางานใหม่ยาก ขออยู่ไปก่อน ถ้าเป็นอย่างนี้ องค์กรจะต้องทบทวนดูว่าจะทำให้พนักงานเหล่านั้นมี commitment แบบที่หนึ่งหรือแบบที่สามด้วยอย่างไร

     ทำความเข้าใจกับ Engagement
    ผู้ที่มี Job engagement สูงจะให้ความสนใจกับงานที่ทำมากกว่าองค์กรหรือบริษัทที่ทำ เขาหรือเธอจะมีความสุขอยู่กับงานโดยไม่คำนึงถึงเวลา จะมาแต่เช้าแล้วกลับดึกดื่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ดังนั้น เราจึงเห็นคนเหล่านี้ยุ่งกับงานตลอดเวลา จนดูเหมือนว่าไม่มีเวลาว่างเลย แต่สิ่งที่เห็นเป็นคนละเรื่องกับ Commitment ที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น เพระมีข้อมูลที่น่าตกใจจากการสำรวจของ Computerworld ในอเมริกาพบว่าประมาณ  1 ใน 3 ของหนุ่มสาว IT ที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำกำลังมองหางานใหม่ และอีก 56% บอกว่าแม้จะไม่ได้มองหางานใหม่ แต่ก็ต้องการให้บริษัทพิจารณาค่าตอบแทนให้เหมาะสมกว่านี้ ดังนั้น ถ้าเราเห็นพนักงานตั้งอกตั้งใจทำงานโดยไม่ปริปากก็ไม่ได้หมายความว่าเขายินดีที่จะทำงานให้กับองค์กรเราเสมอไป เพราะการ ที่เขามี engagement ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมี commitment ด้วยเสมอไป
    สิ่งที่ต้องการคือทั้ง commitment และ engagement
    เนื่องจาก commitment มีความสัมพันธ์กับอัตราการลาออก ถ้าพนักงานมี commitment สูง อัตราการลาออกก็จะต่ำ ในขณะที่ engagement จะมีความสัมพันธ์กับอัตราการขาดงาน ถ้าพนักงานมี engagement สูง อัตราการขาดงานก็จะต่ำ ดังนั้น องค์กรทั้งหลายจึงให้ความสำคัญกับทั้ง commitment และ engagement เพราะไม่ว่าหน่วยงานไหนๆ คงไม่ต้องการให้พนักงานลาออกหรือหยุดงานบ่อยๆ อย่างแน่นอน การทำให้พนักงานยินดีและเต็มใจที่จะทำงานอย่างเต็มความรู้ความสามารถทั้งกายและใจจึงเป็นหน้าที่สำคัญของงาน HR และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมในแวดวง HR จึงให้ความสำคัญกับทั้งสองเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

No comments:

Post a Comment