Thursday, October 14, 2010

Mentoring System Part 2

 เมื่อบทความที่แล้วเราศึกษากันถึงเรื่องแนวคิด ความหมายของโปรแกรมพี่เลี้ยงกันแล้ว ในบทความนี้เรามาศึกษาถึงรูปแบบ และประโยชน์รวมถึงวิธีการนำโปรแกรมพี่เลี้ยงเข้ามาใช้ในองค์กรของเรากันครับ โดยอาจารย์อุไรวรรณ อยู่ชา ได้เรียกโปรแกรมพี่เลี้ยงนี้ว่า Mentoring System หรือ Buddy System ซึ่งเป็นระบบที่พี่ (Mentor) จะต้องดูแล คอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำเมื่อน้อง (Mentee) มีปัญหา
Mentoring แบบคู่ VS แบบกลุ่ม
แบบคู่
     รูปแบบของ Mentoring ในยุคแรกๆ นั้น จะเป็น "แบบคู่" คือ จับคู่กันระหว่าง Mentor 1 คน ต่อ Mentee 1 คน หรือ 2 คน หรือเรียกว่า "พี่ใคร พี่มัน น้องใคร น้องมัน" และต่อมาก็ได้มีการพัฒนาระบบพี่เลี้ยงใหม่ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายรประการที่ทำให้การกำหนดรูปแบบ Mentoring แบบคู่ ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น

     1. หา Mentor ได้ไม่เพียงพอกับจำนวน Mentee เพราะ Mentor หายาก
     2. Mentee ได้เรียนรู้หรือได้รับคำแนะนำจาก Mentor เพียงคนเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการพัฒนาให้ Mentee มีแนวคิดและมุมมองที่แตกต่างออกไป
แบบกลุ่ม
     และเนื่องจากการพัฒนาบุคคลนั้นต้องอาศัยเครือข่ายของกลุ่มคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ที่หลากหลายออกไป ซึ่งรวมถึงเครือข่ายในกลุ่มเพื่อนร่วมงานด้วย ดังนั้น จึงได้มีแนวคิด "ระบบพี่เลี้ยงแบบกลุ่ม" เกิดขึ้น หรือเรียกว่า "กลุ่มเรียนรู้" นั้น จะกำหนดดไว้ Mentor รับผิดชอบในการเป็นผู้นำให้เกิดการเรียนรู้ (Learning Leader) โดยจัดให้เกิดการเรียนรู้กระจายไปยังสมาชิกทุกคน รวมทั้งเพิ่มความรู้ให้แก่ตัวผู้ทำหน้าที่ Mentor ด้วย ระบบพี่เลี้ยงแบบกลุ่มนี้จะถือว่า "Mentor" คือ Learning Leader โดย Mentor จะกำหนดประเด็นการให้คำแนะนำ ซึ่งนอกจากจะได้แบ่งปันความรู้แก่น้องๆ เป็นกลุ่มๆ แล้ว วิธีการนี้ยังเป็นการพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมให้แก่กลุ่มของ Mentor ที่มารวมตัวกันแลกเปลี่ยนข้อมูล เนื้อหาความรู้ สรุปประเด็นต่างๆ ที่จะนำไปถ่ายทอดให้แก่ Mentee ซึ่งกลุ่มของ Mentor ที่มารวมตัวกัน ก็จะกลายเป็นกลุ่มแห่งการเรียนรู้ (Learning Group) ซึ่งคล้ายกับ Learning Team ตามแนวทาง Learning Organization ของ Peter Senge ที่กล่าวว่า "เมื่อทีมเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงแล้ว ผลลัพธืที่ได้ไม่เพียงก่อนให้เกิดผลงานที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่สมาชิกแต่ละคนในทีมก็เจริญก้าวหน้าเร็วขึ้นด้วย"
     ดังนั้น Mentor ในระบบ Mentoring แบบกลุ่ม จึงทำหน้าที่เป็นผู้นำของกลุ่มการเรียนรู้ โดยช่วยให้กลุ่มเข้าใจองค์กร นำเสนอแนวทางการทำงานให้แก่กลุ่ม และช่วยให้กลุ่มกำหนดทิศทางของการพัฒนาตนเอง กระบวนการนี้จะช่วยให้ Mentee ได้รับทั้งความรู้ และเรียนรู้จากรประสบการณ์จริงของ Mentor แต่ละคนซึ่งมีกระบวนทัศน์แตกต่างจากตน
     รูปแบบ "Mentoring แบบกลุ่ม" นั้น หลายองค์กรในสหรัฐอเมริกาได้นำไป Implement พบว่า บางองค์กรก็ประสบความสำเร็จ และบางองค์กรไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อ Mentee มีปัญหาในเรื่องทั่วๆ ไป ไม่เฉพาะเจาะจง ก็ไม่ทราบว่าจะไปขอความรู้ หรือคำแนะนำจาก Mentor คนใด หรือเรียกว่า ไม่มี Mentor เป็นของตนเองนั่นเอง และการรวมกลุ่มของ Mentor เป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละคนมีภาระกิจมากและเวลาไม่ค่อยตรงกัน ดังนั้น หลายองค์กรจึงย้อนกลับมานำแนวคิด Mentoring แบบคู่ มาใช้อีก
Mentoring แบบเป็นทางการ VS แบบไม่เป็นทางการ
     จากบทความของดร.อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ ได้กล่าวถึงรูปแบบของระบบพี่เลี้ยง (โปรแกรมพี่เลี้ยง) ไว้ว่ามีทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยแบ่งออกตามช่วงระยะเวลาของการเป็นพี่เลี้ยง (เขียนโดย Shea, G. F. ปี 1992) ดังต่อไปนี้
แบบเป็นทางการ
ระยะสั้น
     Mentor พนักงานที่มีตำแหน่งในระดับที่สูงกว่าได้รับมอบหมายให้คำแนะนำ แต่ Mentee ที่เป็นพนักงานที่ระดับต่ำกว่า เช่น กรณีการเป็นพี่เลี้ยงพนักงานใหม่
ระยะยาว
     การที่องค์กรจัดโครงการ Mentoring Program และมอบหมายผู้ที่จะเป็น Mentor และ Mentee อย่างชัดเจน โดยเป็นโครงการให้คำปรึกษาแนะนำ สอนงาน เพื่อให้ Mentee มีทักษะตามที่องค์กรต้องการ และมีความก้าวหน้าในสายอาชีพ
แบบไม่เป็นทางการ
ระยะสั้น
     พนักงานที่ระดับต่ำกว่ามาขอคำแนะนำจากพนักงานที่มีตำแหน่งในระดับที่สูงกว่าอย่างไม่เป็นทางการ จบในระยะเวลาสั้นๆ จึงทำให้ความสัมพันธ์ไม่ต่อเนื่อง
ระยะยาว
     พนักงานที่ระดับต่ำกว่ามาขอคำแนะนำจากพนักงานที่มีตำแหน่งในระดับที่สูงกว่า ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และมีความสัมพันธ์กันยาวนาน
     หลังจากได้อ่านบทความแล้ว คงจะมองภาพออกแล้วนะครับว่าจะนำรูปแบบไหนไปใช้ดี โดยในครั้งต่อไปเรามาศึกษากันถึงข้อดี ข้อเสียและวิธีการประยุกต์ใช้ระบบพี่เลี้ยงในองค์กรกันครับ ขอบคุณครับ

No comments:

Post a Comment