Friday, October 15, 2010

แบรนด์ที่ชื่อ……ประเทศไทย –ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

กว่าจะทันตั้งตัว….. ก็สายเสียแล้ว
ประโยคข้างบนดังกล่าวถือเป็นความรู้สึกส่วนตัวของผมครับ ต่อสิ่งที่ผมรู้สึกต่อปรากฎการณ์หลายเรื่องที่เกิดขึ้น ณ ประเทศไทยแห่งนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศไทย
แดจังกึม เป็นตัวอย่างที่ทำให้ผมรู้สึกว่า หากประเทศไทยไม่พยายามสร้างแบรนด์ของตนให้เข้มแข็ง ในรูปแบบรวมพลังแล้ว คำว่า “ไทยแลนด์” คงผงาดในเวทีโลกยากครับ
วันนี้ คนหลายประเทศและ 1 ในนั้นคือคนไทยรู้จักประเทศเกาหลีมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารเกาหลีจากละครโทรทัศน์ “แดจังกึม” ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการทำอาหารของเกาหลี อำนวยการสร้างโดยภาคเอกชนแต่เป็นการขานรับนโยบายจากภาครัฐ ถือเป็นการรวมยุทธศาสตร์ภาครัฐและเอกชนในการขยายทุนทางวัฒนธรรมในรูปแบบ “ละคร” ได้อย่างแนบเนียนและที่สำคัญได้อรรถรสในการชมแบบไม่น่ารังเกียจ
วันนี้ “อาหารเกาหลี” จึงกลายเป็นเมนูที่คนดู “แดจังกึม”อยากชิมมากที่สุด
วันนี้ “เด็กไทยรุ่นใหม่” หลายคนรู้จักที่มาของอาหารเกาหลีมากกว่าอาหารไทยจาก “แดจังกึม”
ผมไม่แน่ใจว่าผลสะท้อนที่ออกมามากกว่าเรตติ้งของผู้ชม ทางผู้ใหญ่ของบ้านเราเริ่มนำมาคิดวิเคราะห์และศึกษาเป็นแบบอย่างหรือไม่ ???
รัฐบาลประกาศนโยบาย “ครัวไทย ครัวโลก” ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันนี้ ผมไม่แน่ใจว่าคนทั่วโลกรู้จักอาหารไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ และที่สำคัญรู้จักแล้วอยากลิ้มลองรสชาติอาหารไทย มากน้อยขนาดไหน
ผมเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลใช้ในขณะนี้ ไม่ว่าการ สนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายกิจการร้านอาหารไทยในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น การใช้วัตถุดิบภายในประเทศที่ได้รับการควบคุมตรวจสอบ การปรุงอาหารตามตำรับไทยแท้โดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้คนต่างชาติอยากชิมอาหารไทย โดยตัดสินใจเป็นอาหารมื้อพิเศษนอกบ้านในวันไม่ธรรมดาครับ
ต่อให้มีร้านอาหารไทยขึ้น เป็นดอกเห็ดทุกหัวมุมถนนในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกเหมือนแมคโดนัล แต่คนต่างชาติไม่รู้สึกอยากลิ้มลองแล้ว คงไม่มีประโยชน์ครับ
ทุกวันนี้คนต่างชาติรู้จักแต่ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ทั้งๆ ที่อาหารไทยมีอีกมากมาย และหากได้เห็นกรรมวิธีการทำอาหารไทยจากสาวไทย ผมเชื่อว่าคนที่รู้จักอาหารเกาหลีจาก”แดจังกึม” ต้องลืมอาหารเกาหลี ฝันถึงแต่อาหารไทยจากแม่ครัวไทยที่อ่อนช้อยครับ
ถึงเวลาแล้วครับ ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน หากต้องการสร้างแบรนด์ไทยให้รู้จักไปทั่วโลก และไม่ได้หยุดแค่รู้จัก แต่เป็นทางเลือกอันดับแรกในการตัดสินใจ และที่สำคัญในส่วนของภาครัฐด้วยกันเองคือ กระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้เปิดประตูโลก และกระทรวงวัฒนธรรมต้นเรื่องในการขายทุนทางวัฒนธรรม ที่ไม่ใช่แต่เฉพาะอาหารเท่านั้น ต้องร่วมพลังในการสร้างแบรนด์ไทย
หากเปรียบเทียบแบบหมัดต่อหมัดแล้ว ถือว่าประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมมากมายกว่าประเทศคู่แข่งที่จ้องขายวัฒนธรรมหลายเท่า ด้วยเพราะความมีรากเหง้าของประเทศที่สะสมมานาน เพียงแต่การร่วมมือประสานของเจ้าของต้นทุนในแต่ละเรื่อง ยังหาได้ยากในสังคมไทย
ยังไม่สายครับ ที่จะปรับกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ใหม่ต่อการสร้างภาพลักษณ์ให้รู้สึกถวิลหา มากกว่าการยัดเหยียดจนเกิดปฎิกิริยาตอบกลับในเชิงลบ เพราะคนส่วนใหญ่ยังเชื่อในทฤษฎีที่ว่า “ของดีจริงทำไมต้องโฆษณา” ทั้งๆ ที่ในโลกของความเป็นจริงแบรนด์ที่ได้รับการนิยมยังต้องมีการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อ “สร้างการตระหนักรู้” อยู่ตลอดเวลา
ผมคิดว่า “แดจังกึม” น่าเป็นทางออกที่ดีให้กับนโยบายครัวโลกของรัฐบาลครับ
ลองทุ่มเงินอีกสักก้อน สร้างหนังไทยที่บอกถึงตำนานอาหารไทยที่แม้แต่คนไทยด้วยกันเองยังไม่รู้ ถึงวันนั้นอย่าว่าแต่ชาวต่างชาติอยากชิมอาหารไทย แม้แต่เด็กโจ๋ตาดำ หัวแดง สัญชาติไทยอาจเปลี่ยนใจมาแฮงค์ตามร้านส้มตำไทยก็ได้ครับ
ผมพอจะนึกถึงพล็อตเรื่องคร่าวๆ จากกาพย์เห่เรือ เห่ชมเครื่องคาวของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่เคยท่องสมัยละอ่อนครับ
มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา
ยำใหญ่ใส่สารพัด วางจานจัดหลายเหลือตรา
รสดีด้วยน้ำปลา ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ

No comments:

Post a Comment