โดยก่อนที่เราจะเรียนรู้เรื่อง ระบบพี่เลี้ยง เรามารู้จักกับคำว่า "พี่เลี้ยง" และ "ระบบพี่เลี้ยง" จากแนวคิด หลักการ ในแง่ของทฤษฎีกันก่อนครับ เพื่อที่จะได้ทราบถึงความเป็นมา ซึ่งจากหนังสือองค์กรนี้ (ต้อง) มีพี่เลี้ยง ที่เขียนโดยอาจารย์ อุไรวรรณ อยู่ชา ได้เขียนไว้ดังนี้
ทำความรู้จักกับความหมายและแนวคิดของ Mentoring ซึ่งคำว่า "Mentor" นั้น มาจากตำนานของชาวกรีกยุคโบราณ ซึ่งเล่ากันว่า ในช่วงที่บรรดาผู้ปกครองนครรัฐต่างๆ ของกรีก ต่างต้องไปรบที่กรุงทรอย ด้วยสาเหตุเพราะ เจ้าชายปารีส ได้แย่งนางเฮเลน จากผู้ครองนครรัฐองค์หนึงของกรีกไป ส่งผลให้ชาวกรีกเกิดความไม่พอใจ จนก่อนให้เกิดสงครามระหว่างกรีกและทรอยขึ้น ในบรรดาผู้ครองนครรัฐของกรีกในยุคนั้น ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ครองนครที่เจ้าปัญญา และเก่งที่สุดก็คือ Odysseus (โอดีสซีอุส) ผู้ครองนครรัฐ ITHACA
ในขณะที่ Odysseus เดินทางไปรบที่กรุงทรอย ก็ได้ฝากลูกชายของตนที่ชื่อ Telemachus ไว้กับเพื่อนสนิทคนหนึ่งของเขาซึ่งชื่อว่า "Mentor" ซึ่ง Odysseus ได้จากบ้างเมืองไปนานนับสิบปี ในระหว่างนั้น Mentor ก็ได้เฝ้าฟูมฟัก ดูแล สั่งสอน ให้คำแนะนำต่างๆ แก่ Telemachus ลูกชายของเขา จนทำให้ Telemachus เป็นเด็กหนุ่มที่มีความสามารถ เรียกว่า Mentor ไม่ทำให้ Odysseus ผิดหวังเลยต่อมาเมื่อมีการบัญญัติศัพท์ต่างๆ ขึ้นในยุคกรีก ชื่อ "Mentor" ได้ถูกบัญญัติเป็นคำศัพท์ โดยที่ American Heritage Dictionary ให้ความหมาย "Mentor" ว่า A wise and trusted counselor or teacher ในยุคต่อมาคำว่า Mentor ได้ถูกนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารต่างๆ ให้คำนิยามและความหมายของคำว่า Mentor ไว้หลากหลาย เช่น
Webster (1990) ได้ให้ความหมายของคำว่า "พี่เลี้ยง" ไว้ว่าเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิด ไว้วางใจได้ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ สามารถเป็นที่ปรึกษาและแนะนำให้แก่ผู้อื่นได้
Bayle & James (1990) ได้กล่าวว่า "พี่เลี้ยง" หมายถึง ผู้ชี้แนะแก่ผู้ขอรับคำปรึกษา หรือผู้ที่อยู่ในความดูแล ทั้งที่อยู่ในรูปเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างความพึงพอใจในอาชีพของตน
John C.Crosby ได้กล่าวว่า "พี่เลี้ยง" หมายถึง ผู้ที่ต้องใช้ความคิดในการวิเคราะห์ ใช้หูในการรับฟัง และการนำเสนอทิศทางที่ถูกต้องให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง
Nigel MacLennan ได้ให้คำนิยามว่า "พี่เลี้ยง" หมายถึง ผู้ที่พร้อมจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้เกิดการเรียนรู้ และให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่ได้รับการมอบหมาย Mentoring หมายถึง ระบบพี่เลี้ยง ได้เริ่มมีการจัดทำระบบพี่เลี้ยงและนำมาใช้กันอย่างจริงจังขขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีผ่านมาในสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความสามารถสูงขึ้น และใช้ในการพัฒนาผู้หญิงให้สามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้บริหารได้เท่าเทียมกับผู้ชาย
เมื่อได้มีการพัฒนาระบบ Mentoring มาใช้มากขึ้น ก็มีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของระบบพี่เลี้ยงโดยกำหนดไว้ว่า ระบบพี่เลี้ยงจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถ หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับ หรือผู้บริหารในหน่วยงานทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำช่วยเหลือรุ่นน้อง หรือผู้ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อให้มีศักยภาพสูงขึ้น ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับหน้าที่ในปัจจุบันโดยตรงก็ได้ และเรียกผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวว่า พี่เลี้ยง หรือ Mentor ส่วนบุคคลที่ได้รับการดูแลจากผู้ที่ได้รับมอบหมาย เรียก Mentee บางองค์กรจะเรียกระบบพี่เลี้ยงหรือ Mentoring System นี้ว่า Buddy System เป็นระบบที่พี่เลี้ยงจะต้องดูแล เอาใจใส่น้อง คอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำเมื่อ Mentee มีปัญหา
ซึ่งดร.อาภรณ์ ภู่วิทยาพันธุ์ ได้กล่าวไว้ว่าโปรแกรมพี่เลี้ยงนี้ (Mentoring Program) เน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (Development Partnership) จากบุคคลที่ต้องทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลต่างๆ และมุมมองส่วนบุคคล เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้อีกฝ่ายมีความพร้อมในการทำงาน พร้อมที่จะเจริญเติบโตและมีความก้าวหน้าในสายอาชีพ ดังนั้น โปรแกรมพี่เลี้ยงจึงเป็นรูปแบบการพัฒนาที่เน้นให้เกิดการสร้างโอกาสในการมีส่วนร่วม การแก้ไขปัญหาและการกำหนดเป้าหมายเพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จ ตามที่ผู้บังคับบัญชาต้องการนั่นเอง ซึ่งลักษณะพิเศษของโปรแกรมพี่เลี้ยงนั้น ผู้เป็นพี่เลี้ยงนั้นสามารถเป็นบุคคลอื่นไม่จำเป็นที่พี่เลี้ยงจะต้องเป็นผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างานโดยตรง ซึ่งความหมายของการเป็นพี่เลี้ยงนั้นมีความหมายรวมถึง
1. การเป็นผู้สนับสนุน (Admocate) คือ เป็นผู้ให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือ
2. การเป็นผู้สอนงาน (Coach) คือ เป็นผู้ทำหน้าที่ในบทบาทผู้สอน 3. การเป็นผู้ให้คำปรึกษา (Consultant) โดยทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแลทั้งการทำงาน การวางแผนเป้าหมายในอาชีพให้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีความสามารถที่สูงขึ้น และการใช้ชีวิตส่วนตัว ในรูปแบบทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้ (My HR Tools) หลายคนที่กำลังมองหาวิธีการพัฒนาคนให้อยู่กับองค์กรนานๆ ไม่ใช่เข้ามาทำงานเดือนเดียวก็ลาออก หรือไม่กี่วันก็หายตัวไปแล้ว ก็สามารถนำแนวคิดในเรื่อง "พี่เลี้ยง" นี้ไปใช้ได้ครับ โดยในบทความต่อไปเรามาศึกษากันถึง รูปแบบ ประโยช์ และขั้นตอนการทำระบบพี่เลี้ยงกันนะครับ
No comments:
Post a Comment