การรักษาคนให้อยู่กับองค์กร (4)
ในบทความก่อนหน้านี้เราได้รู้ความหมายของ HRM และ HRD แล้ว ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการพัฒนาองค์กร (OD : Organization Development) ดังนั้นในบทความนี้เรามาศึกษาถึงวิธีการหาเครื่องมือที่จะใช้ในการพัฒนาองค์การว่ามีอะไรบ้าง และมีวิธีการอย่างไร
จากกระบวนการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวคิดของดร.อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ ที่เห็นว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นระบบเปิด (Open System) ที่มีปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ คน และกระบวนการพัฒนาคน (Process) ได้แก่ เครื่องมือต่างๆ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (Output/Outcomes) ซึ่งจะต้องมีการให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) เป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุด ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาหาแนวทางในการคิดวิธีปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเครื่องมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมต่อไป ดังนั้น นักปฏิบัติในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงจะต้องพยายามสร้างและกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (SHRD : Strategic Human Resource Development) ที่สามารถเชื่อมโยงถึงแผนธุรกิจ (Business Plan) กับแผนด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Plan) ขององค์การได้ (Rothwell, 1989)
SHRD จึงมิใช่เป็นเพียงกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นมาลอยๆ เท่านั้น แต่ SHRD เป็นกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตัวองค์การ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท กลุ่มงานและพนักงานทุกๆ คน ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างมีแบบแผน ซึ่ง Sredl & Rothwell (1987) ได้กล่าวถึงเทคนิควิธีการในการจัดทำ SHRD ไว้ดังต่อไปนี้
- ระบุให้ชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- ประเมินสภาพหรือเงื่อนไขในการทำงานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัจจัยภายใน (Internal Factors) อะไรเป็นจุดแข็ง (Strength) และจุดอ่อน (Weakness) ขององค์การในแง่มุมของทักษะของพนักงาน
- ตรวจสอบปัจจัยภายนอก (External Factors) ว่าปัจจัยใดเป็นโอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) ที่มีผลต่อผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงองค์การ กลุ่ม ลักษณะงาน
- เปรียบเทียบจุดแข็งและจุดอ่อนในด้านทักษะของพนักงานกับโอกาสและอุปสรรคในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น
- กำหนดแผนกลยุทธ์องค์การในระยะยาว (Long-Term Organizational Strategy) สำหรับงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขึ้น ซึ่งแผนงานดังกล่าวจะต้องมีส่วนช่วยในการเตรียมความพร้อมของคนและองค์การในอนาคตไว้ด้วย
- นำแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาประยุกต์ใช้ในองค์การ โดยผ่านเครื่องมือการพัฒนาองค์การ และการพัฒนาพนักงานในรูปแบบต่างๆ
- ประเมินผลการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ
การนำกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาใช้ปฏิบัติในองค์การนั้น พบว่ามีข้อพึงปฏิบัติที่นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก (Rothwell, 1989) ได้แก่
- เชื่อมโยงให้เข้ากับแผนการทำงานขององค์การ
- ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มทักษะของพนักงานด้วยวิธีการต่างๆ
- ให้พนักงานทุกๆ คนมีส่วนร่วม
- ควรทำให้เป็นระบบอย่างเป็นทางการ
No comments:
Post a Comment