Friday, November 5, 2010

ผู้ว่า CEO


ผู้ว่า CEO
โดย บุญช่วย ศรีสารคาม

ผู้ว่า CEO เป็นชื่อใหม่ และรู้สึกว่าจะเข้าใจสับสนกันอยู่ ผู้เขียนจึงขอใช้ประสบการณ์ ความรู้ และสติปัญญา แสดงความเห็นเกี่ยวกับผู้ว่า CEO เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
ผู้ว่า CEO คืออะไร ?
ตามรูปศัพท์ในภาษาอังกฤษ และตามที่ใช้กันอยู่ในวงการบริหารธุรกิจ CEO คือ CHIEF EXECUTIVE OFFICER ในวงการบริหารราชการหรือบริหารแผ่นดิน คำว่า CEO มีการนำเข้ามาใช้น้อย แต่ก็มีอยู่บ้างเช่น ต่งเจี้ยนหัว ผู้บริหารเกาะฮ่องกงในปัจจุบัน ก็เรียกว่า CHIEF EXECUTIVE
ของเกาะฮ่องกงนั้น มีการจัดงานกันอย่างใหญ่โต เจ้าฟ้าชายชาร์ลล์ มงกุฎราชกุมารประเทศอังกฤษก็เสด็จร่วมพิธีด้วย
ในประเทศไทยเรา ท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ให้นำเอาความคิดการบริหารแบบ CEO เข้ามาสวมใส่ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด เป็นการทดลอง ได้แก่ จังหวัดลำปาง จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดชัยนาท จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดนราธิวาส ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 นี้ จึงได้ชื่อว่า CEO
ผู้ว่า CEO
ผู้ว่า CEO เป็นรูปแบบ ( FORM) เป็น Style เป็นบทบาท (ROLE) เป็นสถานะภาพ (STATUS) เป็นศูนย์กลางการบริหารงานทั้งหลายทั้งปวงในจังหวัดรวมทั้งเป็นความหวัง (ASPIRATION) ของประชาชน
จะเป็นผู้ว่า CEO ได้ต้องมีปัจจัยส่งเสริมทั้งภายนอกและภายใน ปัจจัยส่งเสริมจากภายนอก คือการให้อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ ตามตัวบทกฏหมาย ตามนโยบายที่ชัดเจน ตามกฏ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการ EMPOWER ให้แก่ผู้ว่า CEO ถ้ากฏหมายหรือ กฏระเบียบคำสั่งข้อบังคับใด ที่เป็นอุปสรรคหรือไม่เอื้ออำนวยต่อการสวม อำนาจให้แก่ผู้ว่า CEO แล้วก็ต้องแก้ไขสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น รวมทั้งต้องประกาศนโยบายของรัฐบาลให้ชัดเจน
ปัจจัยส่งเสริมภายใน เป็นพลังภายในในตัวของผู้ว่า CEO เอง พลังภายในนี้ได้แก่
ความรู้และปัญญา (KNOWLEDGE AND WISDOM ) ความรู้และปัญญามันไม่ได้กอดกันอยู่มันอิง อาศัยกันเกิดก็จริง แต่มันไม่ได้เกิดพร้อมกันที่เดียว ผู้มีความรู้แล้วจะถือว่ามีปัญญาด้วยนั้นไม่ถูกต้อง โบราณจึงกล่าวความจริงว่าความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะมีแต่ความรู้แต่ขาดปัญญา โดยทั่วไปทางราชการมักมองแต่ความรู้ไม่มองปัญญาด้วย ซึ่งถือว่าไม่สมบูรณ์ ผมจึงเอาปัญญามาเขียนรวมไว้กับความรู้ ความรู้เกิดจากการศึกษา การเรียนรู้จากตำรา (TEXT BOOK) จากครูบาอาจารย์ (TEACHER) จากการสังเกตทดลอง (TEST) และจากประสบการณ์ แต่ปัญญาเกิดจากการคิด และการอบรมสติปัญญา ผู้ว่า CEO จึงต้องมีทั้งความรู้และปัญญา
ความสามารถ (COMPETENCY) ในวงการบริหารธุรกิจเขาดูกันที่ความสามารถมาก ใครมีความสามารถมากเขาก็ถือว่าเป็นมืออาชีพ จะมีความสามารถได้ต้องทำงานหนัก (WORK HARD) มีการทุ่มเท มุ่งมั่น และจริงจัง ลักษณะเช่นนี้ไม่ค่อยจะพบเห็นในวงราชการบ่อยนัก
ท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เป็นแบบอย่างของการบริหารงานแบบ CEO ให้เป็นอย่างดีเพราะท่านทำงานหนัก ท่านขยัน ท่านทุ่มเท และมั่งมั่น และยังกล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบ
คุณธรรม (MORALITY) เป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้ มีทั้งเป็นหลักธรรมกว้าง ๆ มีทั้งเป็นหัวข้อธรรม ข้อปฏิบัติ มีทั้งเป็นจริยธรรม สุดแท้แต่จะเลือกนำมาปฏิบัติ แต่พุทธธรรมที่ใช้กันมาตั้งแต่ โบราณกาล และปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ ได้แก่ ทศพิธราชธรรม และสังคหวัตถุ 4
ความเป็นผู้นำ (LEADERSHIP) ต้องกล้านำและนำถูกทาง ต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ อย่าคิดอย่างเด็ก อย่าทำอย่างเด็ก อย่าใจน้อยอย่างเด็ก อย่าบริหารงานอย่างที่องค์กรอิสระแห่งหนึ่ง ออกมาพูดต่อสาธารณะชนว่า ทำงานแบบผู้จัดการ สันดานเสมียน จนเป็นที่ฮือฮากัน
เมื่อผู้ว่า CEO ได้รับการสวมอำนาจและมีกำลังภายในอยู่พร้อมดังกล่าวนี้แล้ว ก็ให้นั่งภาวนา สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ปล่อยลมหายใจออกยาว ๆ ทำอยู่ประมาณสัก 5 นาที โดยเพ่งพิจารณาไปด้วย (CONTEMPLATING) จนให้เห็นรู้สัจธรรมของความเป็นผู้ว่า CEO และให้เห็นรู้ถึงกิจธรรม คือจะทำอะไร กับภาระการเป็นผู้ว่า CEO
การที่เขียนให้รู้ถึง สัจธรรม และกิจธรรมของสิ่งต่าง ๆ นั้น เป็นการรู้อย่างพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เขียนขึ้นมาเพื่ออารมณ์ขัน ของพระพุทธเจ้าจริง ๆ ต้องรู้ครบ 3 รอบ หรือครบวงจร นั้นก็คือ ต้องรู้ถึงกตธรรมด้วย คือส่งที่เรารู้มานั้นได้ทำเสร็จหรือยัง
เมื่อท่านเพ่งพิจารณาเห็นว่าเรามีความพร้อม การเป็นผู้ว่า CEO แล้ว ก็ไม่ต้องเปล่งวาจาอะไรออกมา เดี๋ยวลูกเมีย และลูกน้องจะแปลกใจคงทำเป็นปกติทุกอย่าง และตั้งหน้าทำงานให้ก้าวไปข้างหน้า
เมื่อมีความเป็นผู้ว่า CEO เต็มตัวแล้วจะทำอะไรต่อไป ?
เรื่องนี้มีความสำคัญมาก ซึ่งผมคิดว่าคงไม่มีใครคิด ได้มาก่อนเรื่องที่จะทำต่อไปก็คือให้นำไปสร้าง “ศํกยภาพ C-E-O”
ศํกยภาพ C-E-O คืออะไร ?
ศักยภาพ C คือ CO-OPERATION ผู้ว่า CEO จะต้องสร้าง CO-OPERATION คือความร่วมมือภายในหน่วยงาน ภายในองค์กร ภายในจังหวัดให้ได้ การสร้าง TEAM WORK เป็นทางหนึ่งที่ จะสร้าง CO-OPERATION ท่านอย่าไปคิดถึง CO-ORDINATION เพราะ CO-ORDINATION มีดีกรีต่ำกว่ามาก มีการประสานงานกันอย่างหลวม ๆ ไม่เกิดพลัง บางทีช่วยได้เพียงทำให้การประสานงานไม่เป็นการประสานงาเท่านั้น ถ้าท่านสร้าง CO-OPERATION ได้ ก็มีลู่ทางที่จะก้าวไปสู่ พลังแผ่นดิน ตามที่ท่านนายกทักษิณเอ่ยถึงอยู่บ่อย ๆ และก็จะนำไปสู่การทูลเกล้า ถวายพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ ภูมิพลังแผ่นดิน
ศักยภาพ E คือ EFFICIENCY หรือประสิทธิภาพการทำงาน อันนี้เป็นหัวใจ เป็นจุดสำคัญของการบริหารงาน ไม่ว่าองค์กรเล็ก องค์กรใหญ่ ถ้าเป็นประสิทธิภาพการบริหารงานบริษัท หรือธุรกิจ เขามักจะเน้นไม่ที่ 3 P คือ PRODUCTIVITY ได้แก่การเพิ่มผลผลิตและการลดต้นทุน,PROFIT ได้แก่การทำกำไร ยิ่งทำได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี,PROSPERITY ได้แก่ ความมั่งคั่ง ร่ำรวย แต่ผู้ว่า CEO อยู่ในวงการการบริหารสาธารณะ (PUBLIC ADMINISTRATION) ฉะนั้นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมุ่งไปที่ความสุขของประชาชนด้วย นั้นก็คือ นอกจาก 3 P ดังกล่าวข้างต้น จะต้องเติม PH เข้าไปด้วย นั้นก็คือ PEOPLE’S HAPPINESS
ศํกยภาพ O ได้แก่ ORDERLY ผู้ว่า CEO ต้องสามารถออกคำสั่ง (ORDER) แก่ข้าราชการและหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ในบังคับบัญชา และในการดูแลได้ คือสั่งอะไรไปเขาต้องเชื่อฟัง และ
ปฏิบัติตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยเก่ามีความเจ็บปวด กับการออกคำสั่งนี้มาก จนถึงกับพูดกันว่า สั่งไปก็เหมือนสั่งขี้มูก ถ้าผู้ว่า CEO แก้ไขตรงนี้ไม่ได้ ก็จะไม่แตกต่างอะไรกับผู้ว่าธรรมดา
ส่วน ORDERAL คือการจัดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ว่า CEO ต้องสามารถสั่งให้จัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยขององค์กร ของหน่วยงาน ให้พ้นจากความสกปรก ความอึมครึม ความมืดมิด ความไม่โปร่งใส รวมทั้งการทำงานแบบเลอะเทอะ แบบไม่เอาไหน รวมทั้งการทุจริต คอรัปชั่น
ส่วนการจัดระเบียบสังคม และการจัดระเบียบชุมชนที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สนใจและมุ่งมั่นอยู่ในขณะนี้ก็สามารถเอาศักยภาพ C-E-O นี้เข้าไปจัดการได้
คำถามต่อไปก็คือ เมื่อผู้ว่า CEO สามารถสร้างศักยภาพ C-E-O ได้แล้ว, จะเอาไปใช้ทำอะไร?
จากการติดตามข่าวการทำงานของผู้ว่า CEO และการให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชน เห็นว่าผู้ว่า CEO ยังงง ๆ อยู่ และยังไม่มีแนวความคิดที่จะใช้ศักยภาพให้สมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะเน้นไปในทางการใช้แก้ปัญหา ผมมีความเห็นว่าควรจะใช้ศักยภาพ C-E-O ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงคิดเห็นว่าศักยภาพ C-E-O น่าจะใช้ได้ 3 ช่องทาง
ช่องทางที่ 1 (ใช้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ) การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในทุกวันนี้ยังล่าช้า ยังไม่จบสิ้น ยังอ่อนปวกเปียก ยังไม่ตรงจุด ยังไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เมื่อผู้ว่า CEO มีศักยภาพ C-E-O แล้วน่า จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เด็ดขาด –รวดเร็ว เสร็จ ถูกต้อง และเป็นธรรม
ปัญหาที่รอการแก้ไขอยู่ในขณะนี้มีมากมาย ทั้งปัญหาของประชาชน ปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรม ปัญหาการขาดแคลน ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ปัญหาเรื่องที่ดินและที่ทำกิน ปัญหาป่าไม้ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ
ช่องทางที่ 2 นำไปปรับปรุงงานการให้บริการประชาชน แทบทุกหน่วยงานมีงานบริการ ประชาชนทั้งนั้น แต่การบริการประชาชนก็ยังไม่รวดเร็ว มีการกลั่นแกล้ง ยึกยัก เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ มีการบิดเบี้ยว ไม่ให้ความเป็นธรรม เจ้าหน้าที่พูดจาและมีกริยาท่าทางไม่เรียบร้อย ดูหมิ่นดูแคลน ประชาชน มีการเลือกปฏิบัติ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีมายาวนาน และสร้างความเจ็บปวด ให้แก่ประชาชน คนยากคนจนมาก เมื่อผู้ว่ามีศักยภาพ C-E-O อยู่ในกำมือก็น่าจะแก้ไข ปัญหาเหล่านี้ได้
ช่องทางที่ 3 นำไปเพิ่มพูนประสิทธิภาพการบริหารงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนบ่นว่า โอนงานพัฒนาและงานบริหารไปให้องค์กรส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นแล้ว จึงไม่ค่อยจะมีงานทำ การคิดเช่นนี้ผมถือว่าคิดผิด จริง ๆ แล้วงานบริหารที่ผู้ว่าจะต้องดูแลยังมีอยู่มากมาย เช่น การบริหาร การจัดการ การบริหารเวลา การบริหารองค์กร ฯลฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารการพัฒนานั้นไม่ใช่การก่อสร้างถนน สะพาน แหล่งน้ำ หรือ งานโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เท่านั้น แต่การพัฒนาจะต้องมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางที่สำคัญ 5 ประการคือ
    1. BASIC NEEDS ได้แก่ ความจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ มีทั้ง สิ่งที่ต้องใช้เงินจัดทำและไม่ต้องใช้เงินจัดทำ
    2. SOCIAL JUSTICE ได้แก่ ความเป็นธรรมในสังคม การไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เรื่องนี้ มีทั้งสิ่งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ มีทั้งสิ่งที่ต้องใช้เงิน และไม่ใช้เงิน มีทั้งที่สามารถลงมือทำได้เดี๋ยวนี้ และต้องใช้เวลา
    3. SELF-RELIANCE คือการพึ่งพาตนเอง โครงการที่มีลักษณะพึ่งพาตนเองมีมากมาย โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริ เศรษฐกิจเพียงพอ
    4. PEOPLE’S PARTICIPATION คือการให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการเลือกโครงการ,การตัดสินใจในโครงการ การร่วมทำงานในโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการในทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม เรื่องนี้ประชาชนร่ำร้องมาก และเสียงร่ำร้องจะดังขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมในทางการเมือง เพราะประชาชนเห็นว่า INDIRECT หรือ REPRESEN ATIVE DEMOCRACY อย่างที่เราใช้ ๆ กันอยู่ทุกวันนี้มีข้อบกพร่อง มีจุดอ่อนหลายประการ ฉะนั้นประชาชนจึงหันไปหา ประชาธิปไตยแบบ DIRECT หรือ PEOPLE DEMOCRACY มากขึ้น ต่อไปเสียง NGO จะดังและสั่นสะเทือนมากยิ่งขึ้น ผู้ว่า CEO จึงต้องดูการพัฒนาในเรื่อง PEOPLE PARTICIPATION นี้เป็นเรื่องสำคัญ
    5. QUALITY OF LIFE คือคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องสุขภาพ อนามัย การศึกษา สวัสดิการสังคม ความพออยู่ พอกิน ซึ่งงานเหล่านี้จะไปมอบให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเสียทั้งหมดก็คงไม่ได้ ผู้ว่า CEO ยังต้องเข้าไปรับรู้และไปดูแลด้วย
การนำศักยภาพ C-E-O ไปใช้ควรมีขั้นตอนอย่างไร ?
เนื่องจากภาระกิจของผู้ CEO เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างมาก และมีขอบข่ายกว้างขวาง จึงต้องใช้เวลา และทำงานเป็นขั้นตอน ผมขอเสนอความเห็นขั้นตอนการทำงานดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการ ได้แก่ การสวมอำนาจให้ผู้ว่า การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับต่าง ๆ รวมทั้งการถ่ายโอนอำนาจ การถ่ายโอนงบประมาณการเงิน และทำความเข้าใจ กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ขององค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก ถ้าทำความเข้าใจไม่ถึงแก่น จะสร้าง CO-OPERATION,EFFICIENCY และ ORDER ไม่ได้
ขั้นตอนที่ 2 คือการทำงานเชิงรุก นำเอาศักยภาพ C-E-O ไปใช้อย่างเต็มที่และทุกช่องทาง
ขั้นตอนที่ 3 ได้แก่การประเมินผล ซึ่งแน่นอนคงจะมีการประเมินตามวิธีทางวิทยาศาสตร์ (SCIENTIFIC METHOD)
ขั้นตอนที่ 4 ได้แก่ การทบทวนการทดลองเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง และการสรุปผลรายงานต่อสาธารณะ
ส่วนแต่ละขั้นตอนจะมีกรอบเวลาอย่างไร ผมคงไม่สามารถคิดแทนได้
บทสุดท้าย
ผู้ว่า CEO เป็นนักปกครองอยู่หรือเปล่า ?
ผมขอฟันธงตามความเห็นของผมว่ายังเป็นอยู่ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเหตุผล ทาง ประวัติศาสตร์ก็ดี โดยความเป็นจริงที่เป็นจริงอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดคือ ผู้ปกครอง บ้านเมือง ในขณะที่รัฐบาลคือผู้ปกครองประเทศชาติ ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องมีคุณลักษณะ และคุณธรรมหลายอย่างเช่น “PLATO” กล่าวว่าผู้ปกครองบ้านเมืองที่ดีจะต้องเป็นนักปราชญ์ “ขงจื้อ” ให้คำสอนไว้ว่าผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องมีคุณธรรมที่สำคัญ 2 ประการคือ
    • RIGHTEOUSNESS คือความเป็นธรรม ความชอบธรรม
    • BENEVOLENCE คือเมตตาธรรม
ในประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศไทย ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ปกครองประเทศได้ปกครองประเทศและอาณาประชาราษฎร์ ด้วยพระเมตตาธรรม ทรงมีความรักประชาชนเสมือนบิดากับบุตร ดังจะเห็นได้จาก พระราชจริยวัตร์ พระราชกรณียกิจ ของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังเช่น พระเจ้ารามคำแหงมหาราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้แต่ในปัจจุบันซึ่งการปกครองประเทศชาติเป็นแบบระบอบประชาธิปไตย แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราองค์ปัจจุบันก็ยังทรงเป็นเจ้าพ่อหลวงของปวงประชาชาวไทย ดังเป็นที่ประจักษ์แนบแน่นอยู่ในดวงใจของคนไทยทั้งชาติ
ผมอยากจะยกตัวอย่างของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงรักและห่วงใยประชาชนเหมือนลูกซึ่งตัวอย่างนี้เข้าใจว่าน้อยคนจะได้พบอ่าน นั้นก็คือประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ 203 พ.ศ.2504 เรื่อง ดาวหางปีระกาตรีศก (ณ วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกาตรีศก) ประกาศแก่ราษฎร์ผู้ใหญ่ผู้น้อยและประชาราษฎร์ไทยทราบโดยทั่วกัน ความบางตอนมีดังนี้
“ถ้ากลัวว่าฝนจะแล้งในฤดูฝน ก็ให้เตรียมตัวต่อสู้เหตุ อย่างนี้คือว่า กลัวฝนแล้งเมื่อฝนยังมี อยู่ให้รีบทำนาเสีย ทำข้าวไร่ ข้าวหางม้า ข้าวสามเดือน ทันสารท ไปตามได้ตามมี ที่ไม่ได้ทำนา พี่น้องบุตรภรรยา บ่าวไพร่มาก ก็ให้จัดซื้อข้าวเก็บเตรียมไว้ให้พอกัน อย่าตื่นขายเสียนัก”
“ถ้ากลัวความไข้ว่า เกลือกฝีดาษจะรุมตัวใครแลบุตรหลานใครยังไม่ได้ออก ฝีดาษ ก็ให้รีบพามา ปลูกฝีดาษที่โรงงาน นอกก็ดี โรงหมอท่าพระก็ดี ศาลาวัดสุทัศน์เทพวรารามก็ดี เสียโดยเร็ว อย่าให้ทันฝีดาษมีมา”
“ถ้ากลัวว่าไข้ลงรากจะมีมากก็ให้ขัดตัวปฏิบัติเสียให้สะอาด อย่าให้สกปรกโสมมความเคยตัวนัก”
“ขอให้ข้าราชการและราษฎร์ทั้งปวงรักษากาย รักษาใจ รักษาเหย้า รักษาเรือนและทรัพย์สมบัติอยู่โดยปกติ อย่าเชื่อมดต่อหมอดูคนทรงผีว่าอย่างนี้อย่างนั้น”
อ่านข้อความบางตอน ในประกาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แล้วจะทราบซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีความรักและห่วงใยปวงอาณาราษฎร์ ดุจบิดากับบุตรพระมหากษัตริย์ไทยทรงรักประชาชนอย่างแท้จริง
ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และด้วยสภาพ ความเป็นจริงที่แท้จริงในปัจจุบัน เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของประชาชน จะต้องมีจิตวิญญาณของ นักปกครองอยู่เสมอ นั่นก็คือ รักประชาชนและมีความจริงใจต่อประชาชน จะเป็นเพียงผู้ว่า CEO เท่านั้นคงไม่เพียงพอ
ข้อเขียนข้างบนนี้ผมคิดและเขียนจาก
    • ความจริงในประวัติศาสตร์ (HISTORY)
    • จากปรัชญาการปกครอง (PHILOSOPHY)
    • จากความรู้ทางวิชาการการบริหารการจัดการ (MAMAGEMENT SCIENCE)
    • จากประสบการณ์ทำงาน (ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดเป็นเวลายาวนานต่อเนื่องกันถึง 16 ปี )
    • และจากพุทธปัญญา (BUDHIST WISDOM)
จึงหวังว่าน่าจะมีคุณค่าและสาระไม่มากก็น้อย

No comments:

Post a Comment