คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์ โดย ดร.ไสว บุญมา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3927 (3127) เมื่อ เอ่ยชื่อของ จอร์จ โซรอส (George Soros) คนไทยส่วนใหญ่ซึ่งเคยได้ยิน ชื่อของเขาคงนึกถึง "พ่อมดการเงิน" ผู้โจมตีค่าเงินบาทจนก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ส่วนเขาจะได้โจมตีค่าเงินบาทจนถึงขนาดก่อให้เกิดวิกฤตจริงหรือไม่ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอย่างไรและได้ทำอะไรอีกบ้างคงไม่มีผู้ใส่ใจเท่าไรนัก จริงอยู่จอร์จ โซรอส เป็นผู้หนึ่ง ซึ่งบุกเบิกกิจการด้านกองทุนเก็งกำไร (hedge funds) และได้โจมตีค่าเงินของหลายประเทศ แต่เขายังทำกิจกรรมอื่นอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการสร้างเสริมระบอบประชาธิปไตยในหลายส่วนของโลก ยิ่งกว่านั้นเขายังได้ศึกษาวิชาปรัชญาอย่างแตกฉานจนสามารถสร้างฐานของการ อ่านกระแสโลกเป็นของตัวเองได้ เขาอ้างว่าหลักปรัชญาและการอ่านกระแสโลกอย่างถูกต้องของเขาเป็นปัจจัยที่ทำ ให้เขาประสบความสำเร็จในกิจการเก็งกำไร ซึ่งเขาได้เล่าไว้ในที่ต่างๆ รวมทั้งในหนังสือ 9 เล่มของเขาด้วย ในหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ The Age of Fallibility: The Consequences of the War on Terror ซึ่งพิมพ์ออกมาเมื่อปีที่แล้ว เขารวบรวมแนวคิด และการอ่านกระแสโลกปัจจุบันอันน่าสนใจไว้อีกครั้งหนึ่ง โดยการแยกนำเสนอหนังสือขนาด 250 หน้าเล่มนี้ออกเป็น 2 ภาคด้วยกัน ภาคแรกพูดถึงกรอบความคิดและภาคหลังเป็นการอ่านกระแสโลก ในภาคกรอบ ความคิด จอร์จ โซรอส เริ่มต้นด้วยการพูดถึงคำว่า "ความเป็นจริง" (reality) และ "ความเข้าใจไม่สมบูรณ์" (fallibility) ซึ่งเป็นคำหลักในชื่อของหนังสือ เขาอธิบายว่า "ความเป็นจริง" หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่และเกิดขึ้นซึ่งรวมทั้งการกระทำ ความคิดและความเข้าใจในความเป็นจริงของเราด้วย แต่โดยธรรมชาติเราจะไม่มีวันเข้าใจ ในความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์เพราะความเป็นจริงนั้นสะท้อนความคิด และการกระทำของเรา ซึ่งเปลี่ยนไปตลอดเวลายังผลให้ความเป็นจริงเปลี่ยนไปด้วย บทบาทของเราที่มีต่อความเป็นจริง และบทบาทของความเข้าใจในความ เป็นจริงที่มีต่อความคิดและการกระทำของเรา มีลักษณะของการสะท้อนกลับไปกลับมา กระบวนการสะท้อนกลับไปกลับมานี้จอร์จ โซรอส เรียกว่า Reflexivity ความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของความเป็น จริง และบทบาทของเราที่ทำให้ความเป็นจริง เปลี่ยนไปเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกตกอยู่ในภาวะของความไม่แน่นอนและความไม่ สมดุลอย่าง ต่อเนื่อง นอกจากนั้นการกระทำของเรายังอาจ มีผลที่เรามิได้ตั้งใจอีกด้วย ประเด็นสำคัญในการดำเนินชีวิตคือ การลดความคลาดเคลื่อนระหว่างความเข้าใจของเรากับความเป็นจริง และผลกระทบที่เราไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เกิดขึ้น การแสวงหาความรู้ เพื่อให้เข้าใจโลกรอบด้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญของมวลมนุษย์ มาตลอดประวัติศาสตร์ ก็เพื่อต้องการลดความคลาดเคลื่อนนั้น แต่โดยทั่วไปผู้คนก็ ยังไม่ค่อยตระหนักในความคลาดเคลื่อนอยู่ดี นอกจากจะไม่ตระหนักในความคลาดเคลื่อนนี้แล้ว บางคนยังคิดว่าตนเองเข้าใจความเป็นจริงอย่างสมบูรณ์อีกด้วย เช่น ผู้ที่เชื่อในระบบ คอมมิวนิสต์และระบบเผด็จการนาซี เนื่องจากคนเหล่านั้นเชื่อในความถูกต้องของตน พวกเขาจึงพยายามบังคับให้คนอื่นเชื่อตามด้วย ความสำคัญผิดเช่นนี้มีอยู่ตลอดประวัติศาสตร์ และเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ด้วย บางครั้งความสำคัญผิด เป็นตัวขับเคลื่อนให้ตลาดการเงินผันผวนอย่างรวดเร็ว ซึ่งคนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น จอร์จ โซรอส มีความเข้าใจมากกว่าจึงสามารถแสวงหาเงินได้จากการเก็งกำไรที่ ไม่มีผู้ใดคาดคิด ตรงข้ามกับความเชื่อของคนเหล่านั้น มีปราชญ์อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเชื่อในเรื่องความไม่สมบูรณ์และความคลาดเคลื่อน ดังกล่าว โดยเฉพาะคาร์ล พอพเพอร์ (Karl Popper) ซึ่งใช้ความเชื่อนั้นวางรากฐานเรื่อง "สังคมเปิด" (open society) ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของจอร์จ โซโรสมาก และเขาได้อธิบายรายละเอียดไว้ในบทที่ 2 และภาคผนวก แม้จอร์จ โซรอส จะรับว่าคาร์ล พอพเพอร์ มีอิทธิพลต่อแนวคิดของเขาซึ่งมีลักษณะเป็นเสมือนตะเกียบ 2 ขาคือ "ความเข้าใจไม่สมบูรณ์" (fallibility) และ "การสะท้อนกลับไปกลับมา" (reflexivity) ระหว่างความคิดและการกระทำ กับความเป็นจริง แต่เขาไม่เห็นด้วยกับความเชื่อของพอพเพอร์ที่ว่ากฎเกณฑ์ และวิธีที่ใช้ในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ จะสามารถนำมาใช้กับวิชาสังคมศาสตร์ได้ เพราะธรรมชาติมีกฎที่แน่นอนแต่สังคมมนุษย์มีความไม่แน่นอน ในด้านวิทยาศาสตร์ทฤษฎี จะมีค่าและนำมาใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อ มันมีความถูกต้อง แต่ในด้านสังคมศาสตร์ซึ่งรวมทั้งด้านการเมืองด้วย แนวคิดหรือทฤษฎีผิดๆ อาจถูกนำมาใช้ได้ผลจนทำให้ผู้ใช้เป็นฝ่ายชนะ จอร์จ โซรอส ยอมรับว่าแนวคิดของเขาอาจไม่ใช่ของใหม่ในแง่ที่อาจมีผู้อื่นคิดได้ก่อนแล้ว แต่เขาเชื่อว่ามันอาจมีบางแง่ที่ใหม่โดยเฉพาะการนำมาประยุกต์ใช้ในด้านที่ ไม่มีใครเคยคิดทำมาก่อน การเก็งกำไรที่ได้ผลดีจนสร้างความเป็นมหาเศรษฐีให้แก่เขาอาจเป็นตัวชี้วัด อย่างหนึ่ง เกี่ยวกับ "สังคมเปิด" จอร์จ โซรอส ยอมรับว่ามันเป็นแนวคิดที่ยากแก่การอธิบาย ในความเห็นของเขา มันไม่ใช่แนวคิดหรือทฤษฎีทางการเมือง หากเป็นแนวคิดที่วาง อยู่บนฐานของปรัชญาด้านการแสวงหา และขอบเขตของความรู้และความตระหนักว่า เราไม่สามารถเข้าใจความเป็นจริงได้ทั้งหมด มันมีความคล้ายกับหลักประชาธิปไตยแต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นสังคมเปิด แต่คนอเมริกันไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรอย่างถ่องแท้และไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ของมันอย่างสมบูรณ์ สังคมเปิดต้องเปิดทั้งต่อภายนอกและภายใน นั่นคือ เปิดรับสินค้า แนวคิดและบุคคลจากภายนอกพร้อมๆ กับเปิดให้ผู้ที่อยู่ภายในแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางและมีโอกาสอย่าง ทัดเทียมกัน คำว่า "สังคมเปิด" ถูกเอ่ยถึงเป็นครั้งแรกโดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อ อองรี เบอร์กซอน (Henri Bergson) ในหนังสือชื่อ Two Sources of Morality and Religion ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2475 เบอร์กซอนเสนอว่า คุณธรรมและศาสนาอาจมาจากฐานความคิด 2 อย่างด้วยกัน นั่นคือ แนวคิดที่ใช้กันเฉพาะในเผ่าใดเผ่าหนึ่งและแนวคิดที่ใช้ได้กับสังคมมนุษย์ ทั่วไป แนวคิดที่ใช้เฉพาะในเผ่านำไป สู่การสร้างสังคมปิด ในขณะที่แนวคิดที่ใช้ได้กับสังคมมนุษย์ทั่วไปโดยไม่จำกัดเผ่า ชาติพันธุ์และศาสนานำไปสู่สังคมเปิด คาร์ล พอพเพอร์ เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และต่อยอดมันออกไปด้วยการให้เพิ่มความระมัดระวังเพราะความเชื่อบางอย่าง เช่น ระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งใช้ได้กับมนุษย์ทั่วไป อาจวางอยู่บนฐานของการคิดว่าผู้ปฏิบัติรู้ความเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ ความเชื่อเช่นนั้นนำไปสู่การสร้างสังคมปิด ที่บังคับกดขี่ให้ผู้อื่นทำตาม แต่พอพเพอร์เองไม่ได้ให้นิยามของสังคมเปิดว่าคืออะไร ส่วนจอร์จ โซรอส เองก็ไม่ได้ให้คำนิยามสั้นๆ เช่นกัน เพียงแต่บอกว่ากรอบความคิดของเขาวางอยู่บนฐานของความเชื่อ ที่ว่าโลกมีความเปลี่ยนแปลงชนิดที่เกิดขึ้นโดยเราไม่สามารถคาดเดาได้จากความ รู้ที่เรามีอยู่ โลกนี้จึงมีความไม่แน่นอน การยอมรับเรื่องความไม่แน่นอนนำไปสู่การคิดเชิงวิเคราะห์และสังคมเปิด ส่วนการไม่ยอมรับเรื่องความไม่แน่นอนนำไปสู่การสร้างสังคมปิด ความ เชื่ออย่างแรงกล้าว่ากรอบความคิดดังกล่าวจะช่วยทำให้โลกดีขึ้น ประกอบกับความสามารถในการสร้างความร่ำรวย ทำให้จอร์จ โซรอส ก่อตั้ง "มูลนิธิสังคมเปิด" (Open Society Foundation) ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดสังคมเปิด ในประเทศที่เป็นสังคมปิด เริ่มด้วยกิจกรรม เช่น การให้ทุนการศึกษา ในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปี 2522 ซึ่งในขณะนั้นยังมีการแบ่งแยกผิวอย่าง เด็ดขาด กิจกรรมของมูลนิธินั้นขยายต่อไป ในประเทศที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก จีนและประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 ประสบการณ์จากการส่งเสริมสังคมเปิดทำให้จอร์จ โซรอส สรุปว่าความล่มสลายของสังคมปิดไม่จำเป็นจะต้องนำไปสู่การสร้างสังคมเปิดโดย อัตโนมัติ มันอาจนำไปสู่ความล่มสลายซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ได้ การปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงยังไม่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งเคยอยู่ในเขตปกครองของระบบคอมมิวนิสต์ ยิ่งกว่านั้นสังคมเปิด ที่มีอยู่แล้วอาจไม่คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนก็ได้ เขาเล่าว่าตอนนี้แนวคิดของเขาได้รับการท้าทายอย่างคาดไม่ถึงจากรัฐบาล อเมริกัน ซึ่งมีประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นผู้นำ เขาคาดไม่ถึงเพราะสหรัฐอเมริกาเป็นสังคม ที่มีลักษณะของสังคมเปิดมากที่สุดมานาน แต่กำลังจะถอยหลังเข้าคลองเพราะวิธีบริหารประเทศของประธานาธิบดีบุชและคณะ
| ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
Thursday, October 28, 2010
The Age of Fallibility ยุคแห่งความคลาดเคลื่อน 1-2
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment